Nike Online Store

ภาษา
ตะกร้าสินค้า

เลือกไซส์รองเท้าวิ่งอย่างไร...ไม่เสียของ เลือกไซส์รองเท้าวิ่ง รองเท้าวิ่งถนน รองเท้าวิ่งเทรล hoka

โพสต์ใน Others โดย อจฟ


เลือกไซส์รองเท้าวิ่งอย่างไรให้ถูกใจใส่สบาย

หนึ่งประเด็นเกี่ยวกับรองเท้าวิ่งที่ผู้เขียนเห็นบ่อยขึ้นในโลกโซเชียลมีเดียก็คือ การขายต่อรองเท้าวิ่งคู่ใหม่ที่เพิ่งซื้อมาด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่า "ใส่ไม่พอดี" ประเด็นนี้ดูธรรมดาไม่มีอะไรในกอไผ่แต่มันบาดใจคนขายรองเท้าวิ่งอย่างเราเหลือเกิน วันนี้จะขอสอนจระเข้ว่ายน้ำเสียหน่อย ไม่มีอะไรมากแค่อยากแชร์บางขั้นตอนที่อาจจะหลงลืมหรือบางคนอาจยังไม่รู้ ด้วยเหตุเป็นมือใหม่เพิ่งซื้อรองเท้าวิ่งคู่แรกเพื่อวิ่งอย่างจริงจังหรือเก๋าประสบการณ์แล้วแต่ดันไม่ได้นึกถึงบางประเด็นจริงๆ ...ก็แล้วแต่

"3 ไม่พอดี" ของรองเท้าวิ่ง

จากการสำรวจห้องซื้อขายต่างๆ และประสบการณ์ร่วมของคนรอบข้าง สามารถแบ่งประเด็นรองเท้าวิ่งไม่พอดีออกเป็น 3 จุดใหญ่ๆ ดังนี้

♣ เท้าชน / หลวม (foot length)
ตอนลองก่อนซื้อก็คิดว่าน่าจะพอดีแล้วนะ ทำไมตอนใส่วิ่งถึงเท้าชน บางคนก็หลวมขึ้นมาได้ รู้สึกไม่พอดีจนต้องตัดสินใจขายทิ้ง

♣ หน้าเท้าบีบ (toe box)
ใส่เดินในร้านตั้งนาน ทำไมตอนวิ่งจริงมันทรมานนิ้วเท้าขนาดนี้ แบบนี้ก็ไม่ไหวต้องตัดใจขายทิ้ง

♣ กลางเท้าไม่พอดี (midfoot)
จุดนี้เป็นปัญหาซ่อนเร้น ตอนลองมันไม่ค่อยโชว์ ต้องใส่วิ่งไปก่อนถึงจะรู้สึก

เลือกรองเท้าวิ่งให้ "พอดิบพอดี"

ด้วยเหตุปัญหาทั้งหมดนี้ ผู้เขียนขอเสนอวิธีที่จะช่วยให้เราสามารถเลือกรองเท้าวิ่งได้ถูกโฉลกกับเท้าของเรา ซึ่งวิธีต่อไปนี้อาจใช้ไม่ได้กับบางปัญหาที่เป็นลักษณะเฉพาะของบุคคล หรืออาจพอกล้อมแกล้มบรรเทาปัญหาลงได้แต่ไม่สมบูรณ์แบบ ด้วยเหตุที่รองเท้าวิ่งทุกคู่นั้นถูกผลิตเป็น mass production มีความเหมาะสมกับกายภาพของจำนวนประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งรายละเอียดบางจุดก็ไม่อาจ "Perfect Fit" กับบางรูปเท้าได้ เป็นอย่างไรลองดูลองทำตามกัน
♥ ลืมไซส์เดิมไปก่อน

อย่าตัดสินใจซื้อรองเท้าวิ่งไซส์เดิมที่เคยใส่โดยยังไม่ได้ลองแม้จะเป็นแบรนด์เดียวกัน ถ้ารองเท้าวิ่งนั้นต่างรุ่นต่างปีหรือต่างความกว้างก็ควรลองใหม่ทุกครั้งเพื่อความแน่ใจ เราสามารถใช้ไซส์เดิมเป็นหลักในการขอทดลองไซส์ได้ พนักงานที่ร้านนั้นไม่มีปัญหาอยู่แล้ว

♥ ใส่ถุงเท้าด้วย

ก่อนลองสวมใส่รองเท้าทุกครั้งให้จำลองสถานการณ์เหมือนตอนใช้จริง ที่ขาดไปไม่ได้คือ "ถุงเท้า" เพราะถุงเท้าเป็นเหมือนผิวหนังอีกชั้นที่เพิ่มขนาดของเท้าด้วย นอกจากจะให้ความสบายแก่เท้าแล้วยังอาจเพิ่มความอึดอัดตอนใส่รองเท้าด้วยเช่นกัน ฉะนั้นเพื่อความ perfect ให้นำถุงเท้าที่ใช้เป็นประจำไปเองเพราะแต่ละคนชอบใส่ถุงเท้าต่างแบบต่างแบรนด์กันไป ความหนาของถุงเท้าจึงมีผลกับไซส์รองเท้าโดยตรง


♥ ส้นชิด หัวไม่ชน**

 

เพื่อแก้ปัญหาเรื่องไซส์ (ความยาวเท้า) ไม่ว่าจะ US, UK, EU หรือ JPN ซึ่งล้วนแต่เป็นตัวเลขที่ระบุชัดเจนบนป้ายหลังลิ้นรองเท้า แต่เลขเจ้ากรรมดันไม่ค่อยตรงกันในแต่ละรุ่น ฉะนั้นวิธีการลองให้เที่ยงตรงควรจะเทียบจากความรู้สึกขณะสวมใส่ด้วย เทคนิคที่ง่ายที่สุดคือเมื่อลองสวมรองเท้าแล้ว ให้ขยับส้นชิดกับรองเท้าและเผื่อช่องวางที่บริเวณช่องหน้าเท้า (toe box) การเผื่อพื้นที่ว่างดังกล่าวก็แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน บ้างก็ 1 ซม.หรือ 2 ซม. แต่สำหรับผู้เขียนยึดเอาหลักกายภาพง่ายๆ คือ ควรเหลือพื้นที่ว่างประมาณความกว้างของนิ้วหัวแม่มือตัวเอง (ตามรูปด้านล่าง) กดลงไประหว่างนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดกับขอบหน้าผ้าโดยประมาณ

เหตุที่ต้องวัดขนาดในลักษณะนี้ ประกอบด้วยเหตุผลดังนี้
1.) จำลองสถานการณ์ขณะที่วิ่ง - เท้าเคลื่อนไหวในลักษณะส้นกระชับกับรองเท้าและเหลือพื้นที่ว่างบริเวณ toe box
2.) พื้นที่ว่างบริเวณ toe box ป้องกันเท้าชนกับรองเท้า สาเหตุของ เล็บม่วง นิ้วพอง เป็นต้น
3.) เท้าจะขยายตัว (เพิ่มขนาดตัวเอง) หลังจากวิ่งไปสักพัก ยิ่งวิ่งนานยิ่งต้องเผื่อช่องว่าง toe box มากขึ้น
4.) รองเท้าวิ่งเทรลจะเผื่อมากขึ้นกว่ารองเท้าวิ่งถนน เพราะใช้เวลานานกว่าและมีการวิ่งแบบดาวน์ฮิล (เท้าไหลไปชนด้านหน้าง่ายกว่า)

** นักวิ่งบางกลุ่มอาจไม่ต้องการข้อนี้ เช่น กลุ่มที่เน้นทำความเร็ว - ต้องการความกระชับพอดีของรองเท้ามากกว่าความสบาย

♥ มัดเชือกเสมือนวิ่งจริง

เมื่อได้ความยาวของรองเท้าที่พอดีความต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปให้ลองผูกเชือกรองเท้าตามปกติที่เคยทำเป็นประจำ เคยผูกล็อคแบบไหนก็ล็อคแบบนั้น เคยผูกแน่นแค่ไหนก็ให้ลองทำตามที่เคยทำ แนะนำว่าเวลามัดเชือกควรกระชับส้นให้แน่นไม่ให้กระดกหลุดเวลาก้าวเท้า เพื่อทดสอบดูว่าในขณะที่รองเท้ามีความแน่นเสมือนการใช้งานจริงนั้นเรารู้สึกอย่างไร เพราะรองเท้าโมเดลใหม่ๆ หรือโมเดลที่ต่างกันล้วนมีลักษณะและส่วนประกอบของหน้าผ้าที่แตกต่างกัน ตอนใส่หลวมๆ อาจรู้สึกดีมากแต่เมื่อผูกเชือกให้แน่นแล้วอาจมีปัญหาขึ้นมาก็ได้ แรงดึงกระชับของเชือกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เข้ามาช่วยตัดสินใจ ว่ารองเท้าวิ่งคู่นั้นพอดีแล้วหรือไม่

♥ ข้างพอดี ไม่บีบไม่เหลือ

เมื่อมัดเชือกรองเท้าแน่นพอดีแล้ว ให้ลองตรวจเช็คความกว้างของรองเท้าว่าพอดีกับเท้าหรือไม่ ทั้งบริเวณ toe box และบริเวณกลางเท้า (midfoot)
- ถ้า toe box พอดี นิ้วเท้าควรขยับได้เล็กน้อยแต่ไม่ถึงกับหลวมจนฝ่าเท้ากวาดซ้าย-ขวาได้ บริเณนิ้วทั้ง 5 ไม่ควรรู้สึกโดนหน้าผ้าบีบรัด เพราะเมื่อลงน้ำหนักที่ฝ่าเท้านิ้วเท้าจะแยกออกจากกันตามธรรมชาติ ถ้าหน้าผ้ารัดมากจะส่งผลให้เกิดการพองที่นิ้วเท้าได้ ถ้า toe box บีบรัดเท้าให้เพิ่มไซส์ขึ้นไปอีก
- ถ้า midfoot พอดีจะรู้สึกกระชับอุ้งเท้า จุดนี้จะช่วยไม่ให้เท้าลื่นไหลหรือพลิกไปมาได้ง่ายขณะวิ่ง ในรองเท้าวิ่งบางรุ่นถูกออกแบบให้มีความเว้าช่วงอุ้งเท้ามากและหน้าผ้าเป็นวัสดุผ้าถักชิ้นเดียว ซึ่งไม่สามารถยืดขยายตามรูปเท้าได้พอดีนักจะรู้สึกว่าหน้าผ้าบีบรัดกลางเท้า ถ้ามากเกินไปจะทำให้วิ่งไม่สบายหรือรู้สึกกดเจ็บที่หลังเท้าได้ ผู้เขียนแนะนำว่าควรเพิ่มไซส์ขึ้นไปอีก


♥ ลองเดิน ลองวิ่ง

 

ทำตามวิธีการด้านบนมาครบถ้วนแล้วเหลือขั้นตอนสุดท้ายที่ขาดไม่ได้ นั่นคือการทดลองขยับเคลื่อนไหวให้ใกล้เคียงกับตอนใช้งาน เดินหรือวิ่งเบาๆ ไปมาในบริเวณร้านพอ...อย่าวิ่งออกมาเดี๋ยวเรื่องจะใหญ่โต เหตุผลที่ให้เดินหรือวิ่งก็เพื่อให้เท้าได้ลองขยับตามจริง ให้มิติของเท้าได้ขยายตามที่เป็นแล้วเราจะสัมผัสได้ว่ารองเท้าวิ่งคู่นั้นพอดีกับเท้าเราจริงๆ หรือไม่ หรืออย่างน้อยก็สามารถรับรู้ได้ว่ามีจุดไหนที่อาจจะเป็นปัญหาได้ในอนาคต หรือเพื่อเป็นข้อมูลเปรียบเทียบกับรุ่นอื่นๆ ที่กำลังอยู่ในการตัดสินใจก็ได้

ทั้งหมดที่ร่ายมา คือวิธีที่ผู้เขียนใช้ลองผิดลองถูกเลือกรองเท้าวิ่งมาแล้วไม่ต่ำกว่ำ 10 คู่ ใส่สบายเท้าวิ่งได้ดี เล็บไม่ม่วงไม่หลุด มีพองน้ำบ้างตอนรองเท้าเปียกหรือเพราะโดนบีบบังคับด้วยระยะเวลาที่ต้องวิ่งเกินกว่า 6 ชม.ขึ้้นไป พิจารณาแล้วคิดว่าพอดีที่จะนำมาแบ่งปันเพื่อเป็นแนวทางในการเลือกไซส์สำหรับบุคคลที่ยังขาดประสบการณ์การเลือกรองเท้าวิ่งด้วยตนเอง ลองปฏิบัติกันดูนะครับ ได้ผลอย่างไร comment เอาไว้ด้านล่างได้นะครับ